แก้ไขล่าสุด วันที่ 14th October, 2023 at 12:29 pm
ช่างรับสร้างบ้านโกงเงิน นั้นถือเป็นความผิดทางอาญาและอาจถูกดำเนินคดีได้
โดยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่
- ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ประกอบมาตรา 342 กำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แก่ผู้ใดซึ่งหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ผู้อื่น โดยการหลอกลวงนั้นทำให้ผู้อื่นหลงเชื่อและได้มอบหมายหรือตกลงจะมอบหมายให้กระทำการใด ๆ อันเป็นประโยชน์แก่ผู้หลอกลวง
- พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 17 กำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แก่ผู้ใดที่เสนอราคาหรือเสนอซองเอกสารประกวดราคาที่มิได้เป็นไปตามข้อกำหนดของเอกสารประกวดราคา
หากท่านถูกช่างรับสร้างบ้านโกงเงิน คุณสามารถดำเนินการดังต่อไปนี้
- แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน
- ยื่นฟ้องร้องต่อศาลแพ่งเพื่อเรียกค่าเสียหาย
- ร้องเรียนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน
เพิ่มเติม
ผู้รับเหมาทิ้งงาน แม้ไม่ได้ทำสัญญาก็สามารถฟ้องดำเนินคดีได้
สัญญาจ้างก่อสร้างไม่ว่าจะเป็นก่อสร้างบ้าน ต่อเติมบ้าน วางระบบไฟฟ้า ระบบน้ำประปา จ้างจัดสวนต่างๆ ซึ่งการกระทำลักษณะพวกนี้ทางกฎหมายจัดอยู่ในเรื่องของการจ้างทำของ กล่าวคือ การกระทำที่มีลักษณะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้สำเร็จ โดยมีข้อตกลงว่าผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างหรือค่าตอบแทนแห่งผลสำเร็จนั้นให้แก่ผู้รับจ้าง ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาจ้างทำของ ซึ่งกฎหมายไม่ได้กำหนดไว้ว่าต้องทำเป็นหนังสือก็สามารถฟ้องดำเนินคดีให้ผู้รับเหมาชำระค่าเสียหายต่างๆได้ โดยสามารถใช้พยานบุคคลในการสืบ หรือภาพถ่าย หรือพยานวัตถุอื่น เข้าสืบเพื่อให้ได้ความจริงโดยไม่มีสัญญาว่าจ้างก็สามารถทำได้ สำหรับอายุความคดีจ้างทำของนั้นจะต้องฟ้องร้องดำเนินคดีภายใน 2 ปี ส่วนการฟ้องผู้รับเหมารับผิดในกรณีชำรุดบกพร่อง ต้องฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ความชำรุดบกพร่องได้ปรากฏขึ้น

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 587 อันว่าจ้างทำของนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้รับจ้าง ตกลงจะทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น
มาตรา 593 ถ้าผู้รับจ้างไม่เริ่มทำการในเวลาอันควร หรือทำการชักช้า ฝ่าฝืนข้อกำหนดแห่งสัญญาก็ดี หรือทำการชักช้าโดยปราศจากความผิดของผู้ว่าจ้าง จนอาจคาดหมายล่วงหน้าได้ว่าการนั้นจะไม่สำเร็จภายในกำหนดเวลาที่ได้ตกลงกันไว้ก็ดี ผู้ว่าจ้างชอบที่จะเลิกสัญญาเสียได้ มิพักต้องรอคอยให้ถึงเวลากำหนดส่งมอบของนั้นเลย
มาตรา 599 ในกรณีที่ส่งมอบเนิ่นช้าไปก็ดี หรือส่งมอบการที่ทำชำรุดบกพร่องก็ดีท่านว่าผู้ว่าจ้างชอบที่จะยึดหน่วงสินจ้างไว้ได้ เว้นแต่ผู้รับจ้างจะให้ประกันตามสมควร
มาตรา 600 ถ้ามิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญาไซร้ท่านว่าผู้รับจ้างจะต้องรับผิดเพื่อการที่ทำชำรุดบกพร่อง เพียงแต่ที่ปรากฏขึ้นภายในปีหนึ่งนับแต่วันส่งมอบ หรือที่ปรากฏขึ้นภายในห้าปี ถ้าการที่ทำนั้นเป็นสิ่งปลูกสร้างกับพื้นดิน นอกจากเรือนโรงทำด้วยเครื่องไม้ แต่ข้อจำกัดนี้ท่านมิให้ใช้บังคับเมื่อปรากฏว่า ผู้รับจ้างได้ปิดบังความชำรุดบกพร่องนั้น
มาตรา 601 ท่านห้ามมิให้ฟ้องผู้รับจ้างเมื่อพ้นปีหนึ่ง นับแต่วันการชำรุดบกพร่องได้ปรากฏขึ้น
ข้อมูลจาก ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 587 มาตรา 593 มาตรา 599 มาตรา 600 และมาตรา 601