แก้ไขล่าสุด วันที่ 14th October, 2023 at 03:42 pm
ปัญหาเรื่องการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
หมายถึง การเลิกจ้างโดยไม่มีเหตุผลที่สมควร ไม่ใช่ความจำเป็นของกิจการ เช่น การเลิกจ้างเพราะเกิดจากความรู้สึกไม่พอใจกันในเรื่องส่วนตัวระหว่างลูกจ้างกับนายจ้าง หรือการจงใจกลั่นแกล้งกันให้เดือดร้อน
กรณีที่ลูกจ้างถูกเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม หรือไม่มีเหตุอันสมควรลูกจ้างมีสิทธิดังต่อไปนี้
1. ค่าชดเชย กรณีเลิกจ้าง สำหรับลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 120 วัน ขึ้นไป ส่วนจะได้รับในอัตราเท่าไร ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการทำงาน ตามมาตรา 118 ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2562
2. ค่าชดเชยพิเศษ กรณีนายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการ
3. ค่าชดเชยพิเศษ กรณีนายจ้างปรับปรุงหน่วยงานโดยนำเครื่องจักร มาแทนกำลังคน
4. สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ในกรณีที่นายจ้างไม่แจ้งกำหนดให้ทราบล่วงหน้า
5. ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
*หมายเหตุ : เรื่องการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมไม่ได้บัญญัติในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานโดยตรง แต่เป็นหลักการในวิธีการพิจารณาคดีเมื่อคดีขึ้นสู่ศาลแรงงาน ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 ที่กำหนดว่า กรณีที่นายจ้างเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ให้ศาลสั่งให้รับลูกจ้างกลับเข้าทำงานต่อไปในอัตราค่าจ้างเดิม แต่ถ้าหากศาลเห็นว่า ทั้งสองฝ่ายไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้นายจ้างต้องจ่ายค่าเสียหายแทนการรับกลับเข้าทำงาน
ข้อมูลจาก : พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2562 มาตรา 118 , 120 , 121 และ 122