แก้ไขล่าสุด วันที่ 27th August, 2023 at 10:25 am
ระดับความรุนแรงของการถ่ายเป็นเลือด
อุจจาระเป็นเลือด เกิดจากการขับถ่ายปกติแต่กลับมีเลือดปะปนออกมา ซึ่งแต่ละคนจะสามารถมองเห็นและรับทราบได้อย่างชัดเจน บางครั้งอาจถ่ายอุจจาระออกมาแล้วมีเลือดหยดตามหลัง หรือถ่ายอุจจาระที่มีเลือดปนอยู่ในนั้น ทำให้อุจจาระเป็นสีแดงต่างไปจากสีปกติ ซึ่งการถ่ายเป็นเลือดในแต่ละแบบ จะช่วยให้วินิจฉัยโรคออกมาได้ไม่เหมือนกัน การถ่ายอุจจาระเป็นเลือดเป็นหนึ่งในอาการของหลายๆ โรค อย่านิ่งนอนใจคิดว่ามีเลือดออกเพราะเป็นโรคริดสีดวงเท่านั้น เมื่อมีอาการถ่ายเป็นเลือดผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อให้ข้อมูลรายละเอียดกับแพทย์ผู้ทำการรักษาอย่างถูกต้อง นำไปสู่การรักษาที่ตรงจุดและดีต่อตัวผู้ป่วยเอง
ถ่ายเป็นเลือด…บอกโรค
ผศ.นพ.ธัญเดช นิมมานวุฒิพงษ์ แพทย์ที่ปรึกษาศูนย์ศัลยกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง ASIT โรงพยาบาลพญาไท 3 อธิบายถึงความรุนแรงของโรคที่มีอาการจากการถ่ายเป็นเลือด สามารถดูได้จากปริมาณของเลือดที่ออกมาและจำนวนครั้งที่มีการถ่ายเป็นเลือด ในผู้ป่วยที่มีเลือดออกมากจะมีโอกาสเกิดโรคได้มากกว่า หากอุจจาระออกมาแล้วมีเลือดหยดตามหลัง อาจเกิดจากการบาดแผลที่เส้นเลือดดำส่วนปลายทวาร แต่หากอุจจาระออกมาแล้วมีเลือดปะปนอยู่ หรือบางครั้งถ่ายออกมาเป็นเลือดอย่างเดียว นั่นหมายถึง มีเลือดออกมากภายในลำไส้ใหญ่ เกิดความผิดปกติขึ้นบางอย่างขึ้น ซึ่งอาการถ่ายเป็นเลือดเป็นหนึ่งในอาการที่สามารถตีความวินิจฉัยได้หลายโรค
โรคริดสีดวงทวาร
อาการถ่ายเป็นเลือดเป็นอาการหลักของโรคริดสีดวงทวาร เกิดจากการเบ่งอุจจาระเวลาขับถ่ายเป็นประจำเนื่องจากอาการท้องผูก ท้องเสีย จนทำให้เส้นเลือดดำบริเวณปลายทวารเกิดการบวมขึ้นและไม่ยุบลงไป เกิดเป็นตุ่มริดสีดวง บางรายที่ริดสีดวงอักเสบมากๆ จนหลุดออกมาด้านนอก สร้างความเจ็บปวดเวลาเดินหรือนั่งแก่ผู้ป่วยเป็นอย่างมาก หลังจากนั้นเวลาขับถ่ายจึงมีเลือดออกมาด้วย โดยเลือดจะเป็นหยดเลือดหลังการถ่าย หรือเลือดเปื้อนทิชชู่เวลาเช็ดทำความสะอาด แต่อุจจาระจะเป็นสีปกติ บางรายไม่รู้สึกเจ็บปวดอะไร มีอาการเป็นๆ หายๆ แต่ในบางรายกลับรู้สึกเจ็บที่บริเวณทวารหนัก คันบริเวณก้น และขับถ่ายลำบากร่วมด้วย
โรคเส้นเลือดของลำไส้ใหญ่ผิดปกติ
เกิดจากเส้นเลือดเล็กๆ มีจำนวนเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ ทำให้เวลาขับถ่ายจึงมีเลือดออก อุจจาระออกมามีทั้งเป็นเลือดสดทั้งก้อนหรือเป็นน้ำเลือด มักพบในผู้สูงอายุมากกว่า 70 ปี โดยที่ไม่แสดงอาการปวดท้อง แม้ว่าบางรายโรคเส้นเลือดลำไส้ใหญ่ผิดปกติ เลือดอาจจะหยุดได้เอง แต่แนะนำให้มาโรงพยาบาล เพื่อตรวจสอบดูเพื่อความแน่ใจ เพราะอาการที่เกิดขึ้นมักแยกไม่ออกจากโรคอื่นๆ
ติ่งเนื้องอกลำไส้ใหญ่
เป็นเนื้องอกที่เกิดจากกรรมพันธุ์ที่ผิดปกติ มักพบส่วนมากในเพศชายที่อายุเกิน 50 ปี พบมากกว่าเพศหญิง ซึ่งสามารถพัฒนากลายเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ในอนาคต โรคติ่งเนื้องอกลำไส้ใหญ่สามารถเกิดได้ทุกส่วนของลำไส้ใหญ่ มีรูปร่างกลม สีออกชมพู อาจพบก้อนเนื้อภายในลำไส้ใหญ่เพียงก้อนเดียวหรือหลายก้อนก็ได้ ผู้ป่วยจะไม่มีอาการแสดงให้เห็น แต่บางครั้งจะมีเลือดออกภายในลำไส้ใหญ่และทำให้อุจจาระเป็นเลือดเคลือบอยู่ที่ผิวของอุจจาระที่ มักเป็นๆ หายๆ สำหรับคนที่มีอายุเกิน 50 ปีแล้วจึงแนะนำให้เข้ารับการตรวจลำไส้ใหญ่เพื่อตรวจหาติ่งเนื้อที่อาจเกิดขึ้น
มะเร็งลำไส้ใหญ่
เป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยในประเทศไทยและทั่วโลก ส่วนใหญ่พบในคนสูงอายุที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ผู้ป่วยจะมีการขับถ่ายที่ผิดปกติ เช่น ท้องผูก ท้องเสีย อุจจาระมีเลือด เป็นต้น บางรายอาจมาด้วยอาการเสียเลือดจนเป็นโรคโลหิตจาง ซึ่งโดยส่วนมากมะเร็งจะถูกตรวจพบที่บริเวณลำไส้ใหญ่ที่อยู่ในช่องท้องมากกว่าลำไส้ใหญ่ที่เป็นลำไส้ตรง มะเร็งลำไส้ใหญ่เกิดจากการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงเป็นประจำ และกรรมพันธุ์ก็มีส่วนด้วย ผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่มักจะรักษาไม่หายขาด ต้องใช้การส่องกล้องหรือวิธีอื่นๆ เพื่อตรวจหาโรคและตัดเนื้อร้ายออกเพื่อป้องกันการลุกลามของโรค
ลำไส้ใหญ่อักเสบ
ลำไส้อักเสบเกิดจากโรคติดเชื้อบางชนิด เช่น โรคบิดทั้งมีตัวและไม่มีตัว ซึ่งอาการที่สำคัญ ได้แก่ ท้องเสียเป็นน้ำหรือถ่ายบ่อยๆ มีไข้ เบื่ออาหาร ปวดท้อง อุจจาระเป็นมูกร่วมกับมีเลือด หรือถ่ายเป็นเลือด ซึ่งต้องทำการรักษาต่อไป
เมื่อมีอาการถ่ายเป็นเลือดจึงควรให้ความสำคัญมาพบแพทย์เพื่อสืบหาต้นเหตุของอาการถ่ายเป็นเลือด ว่ามาจากโรคใดแน่ และวางแผนการรักษาต่อไปได้อย่างถูกต้อง ถูกโรคและทันท่วงที ไม่รอจนสายเกินแก้ ผศ.นพ.ธัญเดช นิมมานวุฒิพงษ์ แพทย์ที่ปรึกษาศูนย์ศัลยกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง ASIT โรงพยาบาลพญาไท 3 กล่าวทิ้งท้าย
ป้องกันถ่ายเป็นเลือด = ป้องกันก่อนเกิดมะเร็งลำไส้
ผศ.นพ.ธัญเดช นิมมานวุฒิพงษ์ แพทย์ที่ปรึกษา ศูนย์ศัลยกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง ASIT โรงพยาบาลพญาไท 3 ได้ให้คำแนะนำถึงวิธีการดูแลตนเองเพื่อป้องกันการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ซึ่งเป็นมะเร็งที่ถูกพบมากเป็นอันดับต้นๆ เช่นเดียวกับมะเร็งเต้านมและมะเร็งปากมดลูก ดังนี้
- รับประทานอาการที่มีกากใยมากๆ เช่น ผักและผลไม้ กล้วย หรือมะละกอ เพื่อป้องกันอาการท้องผูก หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง หรืออาหารที่มีรสจัด ที่สร้างความระคายเคืองให้ระบบทางเดินอาหาร ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ถ้าหากทำได้ควรงดเว้น
- เมื่อปวดอุจจาระควรขับถ่ายทันที ไม่ควรกลั้นเอาไว้นานๆ เพราะช่วงเวลาที่กลั้นเอาไว้ ลำไส้ใหญ่จะทำงานไปพร้อมๆ กัน เพื่อดูดน้ำกลับเข้าสู่ร่างกาย ทำให้เหลืออุจจาระเริ่มแข็งตัวเพราะขาดน้ำ จึงสร้างความลำบากและทรมานในการขับถ่าย ดังนั้นแต่ละคนควรจะฝึกการขับถ่ายให้เป็นเวลา เช่น หลังจากตื่นนอน และที่สำคัญไม่เบ่งมากในขณะขับถ่าย เพราะการเบ่งจะทำให้เลือดคั่งที่บริเวณทวารหนัก เกิดอาการบวมและอาจเป็นแผลได้ สำหรับคนที่ชอบนั่งอ่านหนังสือเวลาขับถ่ายในห้องน้ำ ขอแนะนำว่าไม่ควรนั่งนานๆ ควรขับถ่ายให้เสร็จเรียบร้อยแล้วออกจากห้องน้ำไป
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่นั่งหรือยืนเป็นเวลานานๆ เพราะเมื่อเกิดความดันในหลอดเลือดดำตรงช่องทวารหนักจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดริดสีดวงทวาร เมื่อร่างกายแข็งแรง กล้ามเนื้อมีกำลังดี ท้องก็จะไม่ค่อยผูก
- เมื่อทำธุระส่วนตัวเสร็จควรล้างด้วยน้ำมากกว่าการใช้กระดาษทิชชูเช็ดก้น เพราะหากกระดาษที่ใช้ไม่มีความนุ่มละเอียด เมื่อเช็ดที่ก้นจะเกิดการถลอกของเนื้อเยื่อทวารหนัก รอยถลอกที่เกิดขึ้นเป็นทางเข้าของเชื้อโรคที่มีอยู่ในอุจจาระ ทำให้เกิดการอักเสบจากการติดเชื้อได้
source: https://www.phyathai.com/article_detail/1001/th/ถ่ายเป็นเลือด…ไม่ดี_อาการแบบนี้น่าเป็นห่วง